ประวัติความเป็นมา

 

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาเป็นเวลาช้านาน มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรม และความรู้สึกนึกคิดของคนไทยอย่างแนบแน่น และลึกซึ้ง เรามองพระพุทธศาสนาได้สองด้าน คือ ด้านหลักวิชา และด้านปฏิบัติ ทางด้านปฏิบัติ มีสถาบันสงฆ์ ซึ่งได้ทำการสืบทอด และเผยแพร่พุทธธรรมภาคปฏิบัติแก่คนทั่วไปได้เป็นอย่างดี นับได้ว่าประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติพุทธธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ปัจจุบันมีชาวต่างประเทศสนใจมาปฏิบัติพุทธธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

การศึกษาพระพุทธศาสนาด้านหลักวิชาในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มกันมาช้านานแล้ว แต่ยังไม่อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาด้านนี้ของเราก้าวหน้ายิ่งกว่าที่ทำกันในที่อื่นๆ ทั้งๆ ที่พระพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญที่สุดหลักหนึ่งของสังคมไทย ในประเทศตะวันตก และในลังกา พม่า อินเดีย และที่อื่นๆ การศึกษาและวิเคราะห์พุทธธรรมเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีผู้พยายามมองปัญหาต่างๆ ของโลกและสังคมจากมุมของพุทธธรรมอยู่มาก ในประเทศไทย ความสนใจในการศึกษาวิเคราะห์พุทธธรรมดูเหมือนจะมีมากขึ้นในปัจจุบัน แต่บรรยากาศก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร

 

อนึ่ง แม้พระพุทธศาสนาจะเป็นรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน แต่การศึกษาทางสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรม และความเชื่อที่เกิดขึ้นจริงในหมู่ชาวพุทธยังไม่กว้างขวางนัก พฤติกรรมและความเชื่อทางศาสนาของชาวพุทธมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม และความเชื่อทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม วัฒนธรรม แต่การศึกษาเรื่องเหล่านี้ ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่การเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ประโยชน์อย่างมาก ในการเข้าใจและพัฒนาสังคมไทย

 

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 530 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2536 ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินการเกี่ยวกับพุทธศาสน์ศึกษาขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทย จึงเห็นควรจัดตั้งศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Chulalongkorn University Centre for Buddhist Studies (CUBS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และยังเป็นศูนย์กลางระดมความคิด ในการหาแนวทางประยุกต์พระพุทธศาสนา เพื่อแก้ปัญหาของสังคมไทย ตลอดจนเป็นศูนย์กลางด้านสารสนเทศการศึกษาวิจัยทางพระพุทธศาสนา ทั้งในระดับชาติและระดับสากล