ประวัติความเป็นมา
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาเป็นเวลาช้านาน มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรม และความรู้สึกนึกคิดของคนไทยอย่างแนบแน่น และลึกซึ้ง เรามองพระพุทธศาสนาได้สองด้าน คือ ด้านหลักวิชา และด้านปฏิบัติ ทางด้านปฏิบัติ มีสถาบันสงฆ์ ซึ่งได้ทำการสืบทอด และเผยแพร่พุทธธรรมภาคปฏิบัติแก่คนทั่วไปได้เป็นอย่างดี นับได้ว่าประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติพุทธธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ปัจจุบันมีชาวต่างประเทศสนใจมาปฏิบัติพุทธธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
การศึกษาพระพุทธศาสนาด้านหลักวิชาในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มกันมาช้านานแล้ว แต่ยังไม่อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาด้านนี้ของเราก้าวหน้ายิ่งกว่าที่ทำกันในที่อื่นๆ ทั้งๆ ที่พระพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญที่สุดหลักหนึ่งของสังคมไทย ในประเทศตะวันตก และในลังกา พม่า อินเดีย และที่อื่นๆ การศึกษาและวิเคราะห์พุทธธรรมเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีผู้พยายามมองปัญหาต่างๆ ของโลกและสังคมจากมุมของพุทธธรรมอยู่มาก ในประเทศไทย ความสนใจในการศึกษาวิเคราะห์พุทธธรรมดูเหมือนจะมีมากขึ้นในปัจจุบัน แต่บรรยากาศก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร
อนึ่ง แม้พระพุทธศาสนาจะเป็นรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน แต่การศึกษาทางสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรม และความเชื่อที่เกิดขึ้นจริงในหมู่ชาวพุทธยังไม่กว้างขวางนัก พฤติกรรมและความเชื่อทางศาสนาของชาวพุทธมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม และความเชื่อทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม วัฒนธรรม แต่การศึกษาเรื่องเหล่านี้ ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่การเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ประโยชน์อย่างมาก ในการเข้าใจและพัฒนาสังคมไทย
ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 530 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2536 ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินการเกี่ยวกับพุทธศาสน์ศึกษาขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทย จึงเห็นควรจัดตั้งศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Chulalongkorn University Centre for Buddhist Studies (CUBS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และยังเป็นศูนย์กลางระดมความคิด ในการหาแนวทางประยุกต์พระพุทธศาสนา เพื่อแก้ปัญหาของสังคมไทย ตลอดจนเป็นศูนย์กลางด้านสารสนเทศการศึกษาวิจัยทางพระพุทธศาสนา ทั้งในระดับชาติและระดับสากล
ปรัชญา / วิสัยทัศน์
วิสัยทัศน์
ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์กลางส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในระดับชาติและนานาชาติ
พันธกิจ
1. สร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่ประสานความรู้ปัจจุบันกับพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์ของสังคมไทย
2. เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้แก่สาธารณชน
นโยบาย
1. เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิง และให้บริการความรู้ที่ถูกต้อง ทางด้านพระพุทธศาสนาแก่สังคม
2.เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัย และเผยแพร่วิชาการ ด้านพระพุทธศาสนาที่เป็นที่เชื่อถือและยอมรับ ในวงการวิชาการ
3. เป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมวิชาการร่วมกัน ของนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์ทางวิชาการและทางสังคม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนา ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ
2. เป็นแหล่งรวบรวมเอกสารทางวิชาการ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาระดับชาติ และนานาชาติ
3. ส่งเสริมการวิจัยพระพุทธศาสนา ทั้งด้านหลักวิชา และด้านพฤติกรรมทางสังคม
4. เป็นศูนย์กลางระดมความคิด เพื่อหาแนวทางประยุกต์คำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม และของมวลมนุษย์
5. เป็นศูนย์เผยแพร่พุทธธรรมด้านวิชาการ ให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ
บริการวิชาการ (ห้องสมุด)
ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีห้องสมุดซึ่งรวบรวม หนังสือ, พระไตรปิฎกไทย/อังกฤษ, อรรถกถา, ฏีกา, หนังสืออ้างอิง, พจนานุกรม, งานวิจัยของศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา, วารสารพุทธศาสน์ศึกษา, วิทยานิพนธ์, หนังสือวิชาการทางพระพุทธศาสนา และอื่นๆ
ห้องสมุดเปิดบริการทุกวันทำการ (ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ) ระหว่างเวลา 9.00-16.00 น.
วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Journal of Buddhist Studies Chulalongkorn University
วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวารสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา ที่เน้นการประยุกต์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เข้ากับวิชาการทางโลกในยุคปัจจุบัน ทั้งที่เป็นการวิเคราะห์มโนทัศน์สำคัญในพระพุทธศาสนา การประยุกต์พระพุทธศาสนาในเชิงสนับสนุน และคัดค้านความคิดทางวิชาการยุคปัจจุบัน การประยุกต์พระพุทธศาสนาเข้ากับเหตุการณ์ หรือกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การวิเคราะห์วิจารณ์กิจกรรม หลักการ และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้งเถรวาทและมหายาน แต่เน้นหนักด้านเถรวาท เนื่องจากเป็นนิกายหลักของประเทศไทย
วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวารสารราย 4 เดือน กำหนดออกปีละ 3 ฉบับ คือ เดือนมกราคม-เมษายน, พฤษภาคม-สิงหาคม และกันยายน-ธันวาคม วารสารยินดีรับบทความวิชาการทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่ประยุกต์วิชาการปัจจุบันเข้ากับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ จะเป็นงานเฉพาะสาขาหรือบูรณาการก็ได้
บทความที่จะได้รับการตีพิมพ์ลงวารสาร จะต้องผ่านการประเมินเบื้องต้น จากบรรณาธิการบริหาร ที่ปรึกษา บรรณาธิการหลักประจำฉบับ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งโดยปกติบทความของบุคคลภายในมหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจะเป็นผู้อ่าน ทั้งนี้ ยกเว้นบทความที่เป็นความรู้เฉพาะทาง ที่ต้องการผู้อ่านที่มีความรู้เฉพาะซึ่งมีอยู่จำกัด ผู้อ่านอาจเป็นบุคคลภายนอก หรือภายในก็ได้ที่มีความรู้ดังกล่าว โดยมีผู้อ่านที่เป็นบุคคลภายนอกด้วย
บทความทางวิชาการที่วารสารรับพิจารณา อาจเป็นบทความวิจัย บทความสรุปรายงานการวิจัย บทวิจารณ์หนังสือบทความวิชาการ บทวิจารณ์ และบทความประเภทอื่นๆ ผู้สนใจกรุณาส่งบทความความยาวประมาณ 10-30 หน้ากระดาษ A4 ใช้แบบอักษร TH Sarabun New ขนาด 15 กั้นขอบด้านละ 1 นิ้ว การอ้างอิงใช้ระบบนาม-ปี มีการอ้างอิงถูกต้องและไม่ละเมิดจริยธรรมหรือลิขสิทธิ์ มีบรรณานุกรม ใช้ตัวเลขไทย มีบทคัดย่อภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ความยาวภาษาละประมาณ 10 บรรทัด มีชื่อบทความทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ พร้อมประวัติผู้เขียน ส่งต้นฉบับพร้อมแผ่นบันทึกข้อมูลจำนวนอย่างละ 2 ชุด ถึงศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิชาการที่สนใจลงพิมพ์บทความ ติดต่อสอบถาม และขอทราบแบบฟอร์มเพื่อส่งบทความได้ที่ ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารบรมราชกุมารี ชั้น 13 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330 อีเมล cubs@chula.ac.th โทรศัพท์ 0-2218-4654 ในเวลาทำการ
ที่ปรึกษาและกองบรรณาธิการ วารสารพุทธศาสน์ศึกษา
เจ้าของ
ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ปรึกษา
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), ศาสตราจารย์ ดร. – มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ – ราชบัณฑิตยสถาน
ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์ วิศทเวทย์ – ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม – ข้าราชการเกษียณอายุ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน – สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรณาธิการบริหาร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประทุม อังกูรโรหิต – ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรณาธิการหลักประจำฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – เมษายน
อาจารย์ ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรณาธิการหลักประจำฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน – คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บรรณาธิการหลักประจำฉบับที่ 3 เดือนกันยายน – ธันวาคม
ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร
กองบรรณาธิการ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สิทธิ์ บุตรอินทร์ – ข้าราชการเกษียณอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ ดร.เดือน คำดี – ราชบัณฑิตยสถาน
ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว – ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ – คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา – คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน – คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรประภา ชวะนะญาณ – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัควดี อมาตยกุล – Institute for Research on Population and Social Policies, National Research Council, Italy
ฝ่ายประสานงานและสมาชิก
นางสาวสังเวียน ฟูเฟื่อง
อัตราค่าสมาชิก
1 ปี 3 ฉบับ 60 บาท / 2 ปี 6 ฉบับ 120 บาท / 5 ปี 15 ฉบับ 300 บาท
สมัครเป็นสมาชิก ติดต่อฝ่ายสมาชิก สำนักงานวารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาคารบรมราชกุมารี ชั้น 13 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ รหัสไปรษณีย์ 10330 โทรศัพท์ 0-2218-4654, อีเมล cubs@chula.ac.th
ธนาณัติสั่งจ่าย ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปณฝ. จุฬาลงกรณ์ 10332
ติดต่อสอบถาม
ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาคารบรมราชกุมารี ชั้น 13
แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 0-2218-4654, 0-2218-4656
โทรสาร 0-2218-4652
อีเมล cubs@chula.ac.th
เว็บไซต์ www.cubs.chula.ac.th